ฟินเทค (Fintech) เทคโนโลยีทางการเงิน
ฟินเทค (Fintech) เทคโนโลยีทางการเงิน การบริการ และการลงทุน
ถ้าย้อนเวลากลับไปถามคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกซัก 20 ปีที่แล้ว การบอกว่าสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ โดยไม่ต้องไปที่ธนาคาร คงถูกมองด้วยความสงสัย เพราะบริการหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินดูช่างซับซ้อนเกินกว่าที่คนทั่วไปจะมีอำนาจจัดการ แต่ในวันนี้ การเข้าถึงบริการทางการเงิน การลงทุน หรือแม้แต่เรื่องยาก ๆ แบบการขอสินเชื่อก็สามารถทำได้ด้วยตัวเองง่าย ๆ เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยให้เรื่องการเงินเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น
ฟินเทค (Fintech) คืออะไร
Financial Technology คือการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้กับการเงินในการสร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อเป็นสินค้า บริการ การแก้ปัญหาทางการเงิน รวมถึงเป็นแนวทางในการประกอบธุรกิจใหม่ ๆ ทำให้การจัดการ และการเข้าถึงทางการเงินเป็นไปได้ง่ายขึ้น ด้วยเทคโนโลยี
เทคโนโลยีทางการเงิน มีจุดเริ่มต้นจากการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในระบบงานของธนาคาร เมื่อเทคโนโลยีเติบโตขึ้นพร้อม ๆ กับความสามารถในการเข้าถึงของบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะสมาร์ตโฟนที่ถือเป็น Disrupter แห่งยุค ก็ทำให้อำนาจในการทำธุรกรรมและเข้าถึงบริการทางการเงินไม่ถูกจำกัดอยู่กับสถาบันการเงินอีกต่อไป เทคโนโลยีทางการเงิน ได้แตกแขนงออกมาเป็นรูปแบบต่าง ๆ กัน เพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินของผู้ใช้
Fintech มีกี่แบบ อะไรบ้าง
ถ้าพูดถึง Fintech คนมักจะคิดถึงระบบ Mobile Banking ของแต่ละธนาคารก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งเพียร์ พาวเวอร์บอกได้เลยว่าไม่ผิด แต่ตามที่ได้บอกไปแล้วว่าเทคโนโลยีทางการเงินนั้นมีอยู่หลายรูปแบบด้วยกัน และการแบ่งประเภทของฟินเทคก็สามารถแบ่งได้หลากหลายวิธีเช่นกัน แต่ถ้าจะจำแนกตามจุดประสงค์ในการใช้งาน สามารถแบ่งออกได้เป็น 7 แบบ
Banking Technology
การนำเทคโนโลยีมาใช้กับระบบธนาคาร ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่คนมักคิดถึง เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีทางการเงิน เพราะหลายคนคุ้นเคยกับเทคโนโลยีดังกล่าวอยู่แล้ว และเชื่อว่าในโทรศัพท์ของคนวัยทำงานส่วนใหญ่จะต้องติดตั้งแอปพลิเคชันธนาคาร ซึ่ง ฟินเทคประเภทนี้คือ Mobile Banking ที่มีขึ้นเพื่อให้ลูกค้าของธนาคารสามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการบริหารจัดการเงินของตัวเองได้ด้วยตัวเอง ทำงานในฟังก์ชันเดียวกับที่ธนาคารแบบดั้งเดิมทำ ทั้งเช็กยอดบัญชี โอนเงิน จ่ายบิล และอื่นๆ
Crowdfunding Platforms
เทคโนโลยีเพื่อการระดมทุน กล่าวคือ คราวด์ฟันดิงแพลตฟอร์ม เป็นแพลตฟอร์มตัวกลาง ระหว่าง ผู้ประกอบการ และนักลงทุน โดยแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้น มีจุดประสงค์เพื่อให้เกิดการขอ และให้เงินทุน แทนที่ผู้ประกอบการจะต้องไปขอกู้สินเชื่อจากธนาคาร ก็สามารถระดมทุน จากนักลงทุนหลาย ๆ คนได้ และนักลงทุนเอง ก็สามารถเลือกลงทุนในธุรกิจที่น่าสนใจ ผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าวได้ โดยแพลตฟอร์ม นอกจากจะเป็น ตัวกลางในการเชื่อมต่อแล้ว ยังอำนวยความสะดวก ในเรื่องการสมัครขอระดมทุน ตรวจสอบเครดิต และอนุมัติ ด้วยเช่นกัน ซึ่ง เพียร์ พาวเวอร์จัดอยู่ใน ฟินเทคประเภทนี้ โดย การระดมทุนผ่านแพลตฟอร์ม ของเพียร์ พาวเวอร์ จะอยู่ในรูปแบบของหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ที่ให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย
Cryptocurrency
สกุลเงินดิจิทัลทั้ง Cryptocurrency หรือเทคโนโลยี Blockchain เป็นการสมมติชุดข้อมูลขึ้นมาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งในโลกออนไลน์ แล้วทำให้ใช้งานได้เหมือนเงินจริง สามารถใช้จ่ายได้ รวมถึงเก็งกำไรได้ด้วย โดยสกุลเงินดิจิทัลสกุลแรกที่ถือกำเนิดมาในโลกคือ Bitcoin และที่สั่นสะเทือนวงการการเงินล่าสุดคือการประกาศเปิดตัว Libra สกุลเงินดิจิทัลของ Facebook ที่จับมือกับพาร์ทเนอร์เจ้าใหญ่ทั่วโลกซึ่งถูกคาดการณ์ว่าจะเป็น Technology Disruptive ที่ใหญ่ที่สุดในอนาคต
การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีทางการเงิน ประเภทนี้ บ้างก็ถูกมองเป็นโอกาสที่จะสร้างความเท่าเทียมทางการเงิน บ้างก็ถูกมองว่าเป็นภัยต่อระบบการเงินดั้งเดิมของโลก จึงได้รับทั้งการต้อนรับและขับไล่จากทั่วโลก อย่างไรก็ดี Cryptocurrency ถือเป็นระบบการเงินแห่งอนาคตที่มีการขยายขอบเขตความสนใจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
Payment Technology
ระบบการจ่ายเงินที่ดำเนินการด้วยเทคโนโลยี ประเภทนี้คือระบบตัวแทนการใช้จ่าย ที่ผู้ใช้ต้องเปิดบัญชีกับทางแพลตฟอร์มจึงจะสามารถใช้งานได้ ตัวอย่างเช่นระบบ E-Wallet ต่าง ๆ เครดิตการ์ด ซึ่งระบบ Payment จะต่างจาก Mobile Banking ตรงที่เจ้าของแพลตฟอร์มไม่ใช่ธนาคาร และให้บริการเฉพาะการใช้จ่ายเท่านั้น
Enterprise Financial Software
ซอฟต์แวร์สำหรับองค์กร อีกหนึ่งเครื่องมือเทคโนโลยี ที่จะช่วยผู้ประกอบการในเรื่อง การจัดการทางด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็น การจัดการบัญชี ระบบจ่ายเงินเดือน-ภาษีและการจัดการพนักงาน ซึ่งครอบคลุมถึงสวัสดิการด้านการเงิน โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยลดเวลา และทรัพยากรที่ต้องใช้งาน ทำให้ประสิทธิภาพของกระบวนการภายในองค์กรดีขึ้น
Investment Management
เทคโนโลยีที่จะช่วยจัดการทางด้านลงทุน ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า มีแพลตฟอร์มการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น แอปพลิเคชันลงทุนใน Private fund, ทองคำ, กองทุนรวม รวมถึงแพลตฟอร์มที่ใช้ AI ช่วยในการวิเคราะห์หุ้น หรือแม้แต่การนำเทคโนโลยีอย่าง Robo Advisor มาช่วยในการจัดพอร์ตการลงทุน (Asset Allocation)
Insurance Technology/ Insurtech
หลายคนมองว่าการซื้อประกันภัย ประกันชีวิตคือการลงทุนรูปแบบหนึ่ง รวมทั้งระบบการคำนวณเบี้ยประกันมีความซับซ้อน การใช้เทคโนโลยีทางการเงินเข้ามาช่วยทั้งด้านการคำนวณเบี้ยประกัน ผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงอัตราส่วนลดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ช่วยให้ทั้งผู้ซื้อและผู้เสนอขายประกันภัย ประกันชีวิตบริหารจัดการระบบประกันได้ง่ายขึ้น
เทคโนโลยีทางการเงินมีประโยชน์อย่างไร กับใครบ้าง
ในเมื่อรูปแบบของเทคโนโลยีทางการเงิน มีอยู่มากมาย ครอบคลุมการใช้บริการแทบทุกระดับ ประโยชน์ของเทคโนโลยีทางการเงินจึงมีมากตามไปด้วย โดยอาจแบ่งประโยชน์ ตามกลุ่มผู้ใช้งานได้ดังนี้
บุคคลทั่วไป
ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงินในลักษณะการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ที่ทำให้คนที่ไม่มีบัญชีธนาคารสามารถใช้จ่าย ทำธุรกรรม รวมถึงสามารถขอสินเชื่อ ลงทุนได้ด้วยตนเอง
สถาบันการเงิน
ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงินได้ด้วย การสร้างระบบธนาคารย่อย ๆ แบบ Mobile Banking ลงมาให้อยู่ในโทรศัพท์มือถือ เป็นอีกช่องทางในการเข้าถึงลูกค้า และเก็บข้อมูลธุรกรรมต่างๆของลูกค้าได้ง่ายขึ้น
ผู้ให้บริการ E-Commerce
ใช้ประโยชน์ได้ทั้งในรูปแบบของระบบ Payment จากการเชื่อมต่อ API Data และ Banking Technology ทำให้ค้าขายในออนไลน์ง่ายขึ้น จากการจ่ายเงินผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ดังกล่าว
นักลงทุน
เทคโนโลยีทางการเงิน เอื้อต่อการลงทุนทั้งในรูปแบบตลาด Cryptocurrency, Insurtech และ Crowdfunding Platforms ซึ่งถือเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนที่อยากลองลงทุนในรูปแบบใหม่ ๆ
ผู้ประกอบการ
สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ผ่าน Crowdfunding Platforms รวมถึง สามารถจัดการ บริหารระบบต่างๆในองค์กรได้ดียิ่งขึ้น จากเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ ที่พัฒนามาเพื่อใช้กับองค์กรโดยเฉพาะ
Fintech มีผลกระทบอย่างไรกับธนาคารและอุตสาหกรรมอื่น
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าเทคโนโลยีทางการเงิน คือการทำให้คนทั่วไปมีอำนาจจัดการการเงินของตัวเองมากพอกับที่ธนาคารสามารถทำได้ ประกอบกับมีหลาย ๆ รูปแบบในการให้บริการ นอกจากประโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้ว เราจะพบการตั้งคำถามกับเทคโนโลยีทางการเงิน ในลักษณะการ Disruption ระบบการเงินแบบดั้งเดิมด้วย โดยกลุ่มที่มองว่าอาจได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีทางการเงิน มีอยู่ 2 – 3 กลุ่มคือ
ธนาคารหรือสถาบันการเงิน
ด้วยความเป็นเจ้าเก่าที่ครองอำนาจทางการเงินมาโดยตลอด ทำให้เมื่อเทคโนโลยีทางการเงินกำเนิดขึ้นมาโดยมีลักษณะที่คล้ายกับการให้บริการของทางธนาคาร จึงมีการตั้งคำถามว่าธนาคารจะอยู่ได้หรือไม่ หากคนหันไปใช้เทคโนโลยีทางการเงินกันมากขึ้น
จากข้างต้น เราจะพบว่าแม้เทคโนโลยีทางการเงิน จะมีหลายประเภทเพื่อตอบสนองความต้องการในการบริหารจัดการการเงิน แต่ไม่ได้มีที่ไหนรับฝากเงินเหมือนที่ธนาคารทำ การได้รับเงินสดจากเทคโนโลยีทางการเงินนั้นเป็นไปได้ยาก เราเห็นตัวเลขแต่ไม่ได้เห็นตัวเงินจริง ๆ จนกว่าจะมีการแลกเปลี่ยนผ่านทางสถาบันการเงินในที่สุด ดังนั้นธนาคารไม่ได้มีบทบาทลดลงจากการเข้ามาของเทคโนโลยีทางการเงิน พร้อมกันนั้น ธนาคารก็ย้ายตัวเองลงไปอยู่ในโทรศัพท์มือถือที่ใกล้ชิดกับผู้ใช้มากขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยีเช่นกัน การที่สาขาของธนาคารปิดตัวลง อาจมีผลกระทบต่อคนทำงานด้านปฏิบัติการในธนาคาร แต่หากมองในแง่สถานะและความมั่นคงของธนาคารแล้ว นี่อาจเป็นข้อดีมากกว่าก็ได้
ธนาคารเองก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงิน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วโลก จะเลือกหนุนหลังธุรกิจที่พัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน เพราะเป็นโอกาสดีที่จะได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีโดยไม่ต้องลงมือพัฒนาเอง
ห้างสรรพสินค้า
เมื่อมีการซื้อขายออนไลน์แบบครบขั้นตอนในแพลตฟอร์มเกิดขึ้นด้วยความช่วยเหลือจากเทคโนโลยีทางการเงิน การซื้อขายสินค้าที่ต้องเดินทางออกไปเพื่อค้นหาจึงมีความจำเป็นลดลง รวมถึงขณะนี้ ปนะเทศไทยมีอัตราการใช้จ่ายออนไลน์สูงที่สุดในเอเชีย ห้างสรรพสินค้าจึงเป็นส่วนหนึ่งที่อาจได้รับผลกระทบ แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ชอบซื้อของที่ได้สัมผัสด้วยมือ มองเห็นด้วยตา รวมถึงต้องการที่นั่งเล่น พบเจอกับเพื่อนก็ยังมีอยู่เช่นกัน
ที่มา https://www.peerpower.co.th/blog/investor/fintech-technology/